วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 : พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 


เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย 

ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน 


ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 


รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วัน 


มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1 ชุด คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 1: 28 มิถุนายน 2475-10 ธันวาคม 2475) 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 

เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นฉบับถาวรที่มีระยะเวลาบังคับใช้นานที่สุด 


โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน 


ส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 


มีที่มาจาก ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 


รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน 






พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ในวันพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475
@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 
หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 

รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน 


มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 


มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯและพิจารณาแล้วเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนหน้านี้ 


โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 


สำหรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4) 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 

หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้ สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ 

และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา 


และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 


รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่า 


รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมาก 


พูดได้ว่า เป็นช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จ 


และมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้ง แทน 


อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 

มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ นับเป็น รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างฯนานมาก นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 

มีจำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล" 


รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน 


ผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514) 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 


คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน 


มีจำนวน 23 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร 


ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ 


"เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 

ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมญนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา 

แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง 


ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 

ภายหลังการยึดอำนาจ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง "คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีจำนวน 29 มาตรา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 

แต่หลังจากประกาศใช้ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ และยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไป 


นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศช่วงรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520) 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 

เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ โดยได้วางหลักการไว้กว้างๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 32 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และยกเลิก 22 ธันวาคม 2521 เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร) 


รวมเวลา 1 ปี 1 เดือน 13 วัน มีรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1) บริหารประเทศ 






พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนแล้วเสร็จ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้มีมติเห็นชอบแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีจำนวน 206 มาตรา 

สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 


รวมเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 14 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา 

คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา แล้วยกเลิกไปวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หลังจากประกาศใช้ฉบับถาวร 


รวมเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 คือ 8 เดือน 8 วัน 


สำหรับนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน (สมัยที่ 1 : 2 มีนาคม 2534-7 เมษายน 2535) 




@ รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 


สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีจำนวน 223 มาตรา 


ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ คณะ รสช. ก็ได้พยายามสืบทอดอำนาจ โดยผ่านพรรค "สามัคคีธรรม" ซึ่งเป็นพรรรค "นอมินี" ของ รสช. หนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน จนเกิดเหตุล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากตำแหน่ง 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงประกาศใช้มาเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คำนึงถึงประชาชนมีส่วนร่วมขึ้นมา และเมื่อแล้วเสร็จ จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 


รวมเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศ 5 ชุด 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 


สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน...คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ 


สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ได้จัดทำขึ้นเสร็จ แล้วรัฐสภาสมัยรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 พิจารณาให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประธานรัฐสภาได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มีจำนวน 336 มาตรา 


รัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างฉบับนี้ ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมเวลา 8 ปี 11 เดือน 8 วัน 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 

คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา 

โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้ 




@ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 


เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตรา 


ช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก 


จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ" 


การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 41% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศต่อไป 


น่าสนใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ น่าสนใจว่า การรัฐประหาร จะกลับมาอีกไหม สังเกตไหมว่า หลังจากที่มีการยึดอำนาจ ส่วนใหญ่ มักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้อยู่ จากนั้น ก็ร่างฯฉบับชั่วคราวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร 



วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การพิพากษาของศาลโลก


การตั้งต้นคดี
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินไปแล้ว และในวันเดียวกัน กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวสำหรับรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน ในคำร้องทั้งสองฉบับกัมพูชาได้กล่าวอ้างถึงความขัดแย้งไทย-กัมพูชาที่ยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ศาลแจ้งต่อสื่อมวลชนว่า คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมนั้นถือเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่ ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวนั้นถือเป็นกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวเนื่องกับคดีใหม่ดังกล่าว

คำร้องขอให้ตีความคำพิพากษา
    เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา
กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 17 หน้า มีใจความสำคัญดังนี้
กัมพูชาระบุว่าไทยมีข้อขัดแย้งต่อความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมในประเด็นดังต่อไปนี้
           1.ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาเดิมนั้นได้อาศัยเขตแดนระหว่างประเทศที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างให้การยอมรับ
           2.ประเด็นที่กัมพูชาเห็นว่าเขตแดนดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่ในภาคผนวก 1 ที่ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิม ซึ่งศาลได้อาศัยแผนที่ฉบับนี้เพื่อวินิจฉัยว่าการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารนั้นเป็นผลโดยตรงที่เกิดขึ้นเองจากการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่
           3.ประเด็นที่คำพิพากษาเดิมได้ตัดสินให้ไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหารหรือบุคลากรอื่นออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทที่ตั้งอยู่บนเขตแดนของกัมพูชา โดยกัมพูชาเห็นว่าพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่องดังกล่าวย่อมเป็นไปตามถ้อยคำในคำพิพากษาเดิมที่ศาลได้ยอมรับว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าว

กัมพูชาอธิบายต่อว่า แม้ไทยจะไม่โต้แย้งว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร แต่เมื่อไทยโต้แย้งว่ากัมพูชาไม่มีอธิปไตยเหนือบริเวณโดยรอบและใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ย่อมถือว่าไทยโต้แย้งว่าเส้นเขตแดนที่ศาลได้ยอมรับไว้ตามคำพิพากษาเดิมนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งย่อมกระทบไปถึงบริเวณตัวปราสาทด้วยเช่นกัน
กัมพูชาจึงมีขอให้ศาลวินิจฉัยและสั่งว่า พันธกรณีที่ไทยต้องถอนกำลังทหารหรือกำลังตำรวจใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ยามหรือผู้เฝ้าดูแลอื่น ๆ ที่ไทยได้เคยให้ประจำอยู่ ณ ตัวปราสาทหรือบริเวณใกล้ตัวปราสาท (ตามบทปฏิบัติการข้อ 2 ของคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2505) เป็นผลโดยเฉพาะที่เกิดจากพันธกรณีอันทั่วไปและต่อเนื่องที่ไทยจะต้องเคารพบูรณภาพอาณาเขตของกัมพูชา โดยที่บริเวณตัวปราสาทและบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตดังกล่าวได้มีการปักปันโดยเส้นเขตแดนตามแผนที่ซึ่งศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษาเดิมอันศาลได้อาศัยเป็นฐานในการพิพากษา

ลักษณะการพิจารณาคดี
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีที่รัฐร้องขอให้ศาลตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 60 ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคี ประกอบกับระเบียบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 98 โดยศาลจะอาศัยเพียงคำร้องของกัมพูชาฝ่ายเดียวเพื่อรับคดีไว้พิจารณาก็ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลได้รับคดีเข้าสู่สารบบความแล้ว ก่อนที่ศาลจะสามารถตีความคำพิพากษาเดิม ศาลจะต้องวินิจฉัยคำร้องของกัมพูชาเสียก่อนว่ามีเหตุแห่งคดีที่เข้าเงื่อนไขให้ตีความได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขสองประการคือ
           1.คำร้องของกัมพูชาต้องมุ่งหมายให้ตีความคำพิพากษาเดิมอย่างแท้จริงเพื่อให้ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาเดิมชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยมิใช่เพื่อตอบคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม
           2.คำร้องของกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาและไทยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าว

หากคำร้องไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสอง ศาลก็จะพิพากษาว่าคำร้องดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การตีความคำพิพากษาเดิมได้ อย่างไรก็ดีหากคำร้องบางส่วนหรือทั้งหมดเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ศาลก็จะพิจารณาคำร้องส่วนดังกล่าวเพื่อตีความคำพิพากษาเดิม โดยการตีความจะปรากฏในคำพิพากษาฉบับใหม่
กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าไทยจะต้องทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลภายในประมาณเดือนตุลาคม 2554 ซึ่ง คาดว่ากระบวนพิจารณาการตีความอาจจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2555 

การโต้แย้งของฝ่ายไทย
กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยโต้แย้งประเด็นของกัมพูชา โดยยกธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 มาอ้าง การตีความคำพิพากษาต้องเป็นเรื่องต่อเนื่องจากคดีหลัก คือ คดีปราสาทพระวิหาร และหากศาลตัดสินโดยใช้แผนที่เขตแดนของฝรั่งเศสจะทำให้เป็นการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาล

การร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราว
   เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา
กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 3 หน้า มีใจความสำคัญดังนี้
กัมพูชากล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2554 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบริเวณปราสาทพระวิหารและจุดอื่น ๆ ตามเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและต้องเดินทางหนีภัย ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโดยไทยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทั้งหมด ศาลจึงจำเป็นต้องมีวิธีการอันเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของกัมพูชา และป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น หากปราศจากวิธีการของศาลและไทยยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปราสาทพระวิหารเสียหาย รวมไปถึงทำให้ผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานจากการปะทะกันโดยอาวุธ ซึ่งจะร้ายแรงยิ่งขึ้น
กัมพูชาจึงขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวดังต่อไปนี้
          1.ให้ไทยถอนกำลังจากจุดต่าง ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหารอันเป็นดินแดนของกัมพูชาโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข       2.ห้ามมิให้ไทยดำเนินการทางทหารใด ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหาร      3.สั่งให้ไทยไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น


ลักษณะการพิจารณาคดี         

               ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 41 ซึ่งไทยเป็นภาคี ประกอบกับระเบียบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 73 ถึง 78 โดยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมก่อนที่ศาลจะสามารถระบุวิธีการชั่วคราว ศาลต้องวินิจฉัยคำร้องว่าได้ปรากฏเหตุที่เข้าเงื่อนไขให้สามารถระบุวิธีการชั่วคราวได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขสามประการคือ        
               1.กัมพูชาต้องแสดงให้ศาลเห็นถึงมูลคดีในเบื้องต้นว่าการขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมนั้นสามารถนำไปสู่การพิจารณาในเนื้อหาต่อไปได้ กล่าวคือศาลต้องพอใจในเบื้องต้นว่ากัมพูชามิได้ขอให้ตีความคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม และกัมพูชาและไทยต่างมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าวอยู่จริง (อย่างไรก็ดี ไทยย่อมมีสิทธิต่อสู้หักล้างมูลคดีเบื้องต้นดังกล่าวในภายหลังได้)        
              2.กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการชั่วคราวจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของกัมพูชาจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลัง         
              3.กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลังอาจเกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะได้พิจารณาคดีที่ขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมแล้วเสร็จ

          กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าศาลจะนัดฟังการแถลงคดีด้วยวาจาโดยกัมพูชาและไทย ประมาณวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาลเกี่ยวกับการขอให้มีวิธีการชั่วคราว โดยแต่ละฝ่ายจะมีเวลาแถลงคดีด้วยวาจาประมาณฝ่ายละ 4 ชั่วโมง

    การโต้แย้งของฝ่ายไทย        สำหรับคำร้องขอวิธีการชั่วคราวของกัมพูชานั้น ฝ่ายไทยชี้ว่า คำขอดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เร่งด่วนและไม่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ การอ้างถึง ปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายไม่ได้เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร และสถานการณ์ทั่วไปตามชายแดนของทั้งสองประเทศยังคงเป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้การจัดทำหลักเขตแดนระหว่างสองประเทศยังมีกลไกทวิภาคีอยู่


   การแถลงด้วยวาจา     

                ศาลกำหนดการแถลงด้วยวาจาออกเป็นสองรอบ ในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน สำหรับวันที่ 31 พฤษภาคม ได้กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.00-12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 16.00-18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และในวันที่ 1 มิถุนายน กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.30-11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 17.00-18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น        
                ด้านฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า กัมพูชาเตรียมร้องขอวิธีการชั่วคราวจากศาลเพื่อปกป้องสันติภาพและหลีกเลี่ยงการยกระดับการปะทะในพื้นที่ ยืนยันว่าประเทศไทยอยู่ใต้เงื่อนไขต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาท ส่วนทางด้านฝ่ายไทย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำเนเธอร์แลนด์, อิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการแถลงด้วยวาจาร่วมกับกัมพูชา


คำสั่งศาล      

           วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 แผนกข้อมูลข่าวสาร (Information Department) ของศาลแถลงว่า ศาลจะอ่านคำสั่งสำหรับคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราว ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 10:00 นาฬิกา (เวลาท้องถิ่น) ณ วังสันติ (Peace Palace) ครั้นวันเวลาดังกล่าว ศาลนั่งพิจารณา โดยมี ฮิซะชิ โอะวะดะ ประธานศาลเป็นประธานในการนั่งพิจารณา โอะวะดะอ่านคำสั่งของศาลมีใจความดังนี้     
                 1.ด้วยมติเอกฉันท์ ให้ยกคำร้องของไทยที่ขอให้ศาลจำหน่ายคำร้องของกัมพูชาซึ่งขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวออกจากสารบบความของศาลฯ  
                 2.กำหนดวิธีการชั่วคราว ดังต่อไปนี้       
                   (1)ด้วยมติ 11 ต่อ 5 เสียง กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว แล้วให้คู่ความทั้งสองถอนบุคลากรทางทหารที่ประจำอยู่ในเขตนั้นออกไปทันที และให้งดเว้นจากการส่งทหารใด ๆ เข้าไปยังเขตดังกล่าว ทั้งห้ามดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางทหาร ณ เขตนั้นด้วย            
                   (2)ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามประเทศไทยขัดขวางกัมพูชาจากการเข้าถึงปราสาทพระวิหารโดยเสรี หรือจากการส่งเสบียงโดยปราศจากบุคลากรทางทหารเข้าไปยังปราสาทนั้น                               
                   (3)ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองร่วมมือกันในอันที่จะให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าถึงเขตปลอดทหารชั่วคราวได้       
                   (4)ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามคู่ความทั้งสองปฏิบัติการใด ๆ อันจะยังให้ข้อพิพาทย่ำแย่ลงหรือลุกลามขึ้น หรือระงับยากขึ้น        
                3.ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองรายงานให้ศาลทราบเป็นระยะ ๆ ถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวข้างต้น            
                4.ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้บรรดามูลคดีอันเป็นเหตุให้มีคำสั่งนี้คงอยู่ในความควบคุมของศาลต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคำร้องขอให้ตีความ


วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปัญหาเขาพระวิหาร



           
                  คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1"  กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้านปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญา ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 
               รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว  นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)

               ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน  ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว